วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 3096

ประเพณีไทย

         ชื่อ
               ประเพณีลอยเรือ
       ภาค
                ภาคใต้
  จังหวัด
               กระบี่

ช่วงเวลา ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑
ความสำคัญ
ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวอูรักลาโวย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดสมาชิกในชุมชนและญาติพี่น้องที่แยกย้ายถิ่นไปทำมาหากินในแถบทะเล และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันจะพากันเดินทางกลับมายังถิ่นฐาน เพื่อประกอบพิธีนี้
พิธีกรรม
ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ช่วงเช้า ชาวเลจะเดินทางไปบริเวณที่จะทำพิธี ผู้หญิงจะทำขนม ผู้ชายจะสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว ช่วงเย็น ทั้งหญิงและชายจะไปรวมกันที่ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำอาหารเครื่องเซ่นไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นการบอกกล่าวให้มาร่วมพิธีลอยเรือ
เช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ เพื่อนำไม้มาทำเรือผู้หญิงจะร้องรำทำเพลง ในขณะที่รอรับไม้บริเวณชายฝั่ง แล้วขบวนแห่จะแห่ไม้ไปวนรอบศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ "ปลาจั๊ก" คืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ มีพิธีฉลองเรือโดยมีการรำรอบเรือ เพื่อถวายวิญญาณบรรพบุรุษโดยใช้ดนตรีและเพลงรำมะนาประกอบวงหนึ่งและอีกวงจะเป็นการรำวงแบบสมัยใหม่มีดนตรีชาโดว์ประกอบการร้องรำ โต๊ะหมอจะทำพิธีในช่วงเริ่มฉลองเรือและมีพิธีสาดน้ำตอนเที่ยงคืน (เลฮฺบาเลฮฺ) และทำพิธีอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก่อนนำเรือไปลอยในทิศทางลมซึ่งแน่ใจว่าเรือจะไม่ลอยกลับเข้าฝั่ง หลังจากนั้นแยกย้ายกันนอนพักผ่อน
บ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งแยกย้ายไปตัดไม้และหาใบกะพร้อเพื่อทำไม้กันผีสำหรับทำพิธีฉลองในเวลากลางคืน โดยมีพิธีกรรมเหมือนกับพิธีฉลองเรือทุกประการ จนกระทั่งใกล้จะสว่างโต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ทำนายโชคชะตา และสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้านโดยนำไม้กันผีไปปักบริเวณรอบหมู่บ้านด้วย

สาระ
ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษอันเกี่ยวเนื่องกับตำนานความเชื่อความเป็นมาและวิถีชีวิตทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโวย การจัดพิธีฉลองเรือก็เพื่อการสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับสู่บ้านเมืองเดิม และการส่งสัตว์ไปไถ่บาป
เรือปลาจั๊กที่ทำขึ้นในพิธีลอยเรือ ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำเป็นสัญลักษณ์ของ "ยาน" ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง มีชิ้นไม้ระกำที่สลักเสลาอย่างสวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ประดับประดาอยู่ในเรือ รูปนกเกาะหัวเรือ หมายถึง "โต๊ะบุหรง" บรรพบุรุษผู้ซึ่งสามารถห้ามลมห้ามฝน ลายฟันปลา หมายถึง "โต๊ะบิกง" บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงูหมายถึง "โต๊ะอาโฆะเบอราไตย" บรรพบุรุษที่เป็นงู ฯลฯ ในเรือยังมีตุ๊กตาไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือและเครื่องเซ่นต่าง ๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานเดิมที่เรียกว่า "ฆูนุงฌึไร"
การร่ายรำแบบดั้งเดิมผสมผสานกับบทเพลงเก่าแก่และดนตรีรำมะนา เป็นส่วนประกอบที่เร้าใจและเป็นการรำถวายต่อบรรพบุรุษ ทุกคนที่รำเชื่อว่าจะได้บุญ
โต๊ะหมอผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม เชื่อว่าเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้าและวิญญาณบรรพบุรุษได้ ผู้ที่ผ่านพิธีลอยเรือถือว่าจะเป็นผู้ที่ผ่านทุกข์โศกโรคภัยไปหมดแล้ว ชีวิตต่อไปข้างหน้าจะประสบแต่ความสุขและโชคดีในการทำมาหากิน

ชื่อ
ประเพณีสงกรานต์
ภาค
ภาคกลาง
จังหวัด
กรุงเทพมหานคร

ช่วงเวลา
ตามประเพณีเดิมของไทย วันตรุษกับวันสงกรานต์แยกเป็น ๒ วัน คือ วันสิ้นปีทางจันทรคติ ได้แก่ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันตรุษ ส่วนวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ คือ วันที่ดวงอาทิตย์ก้าวขึ้นสู่ราศีเมษ มักตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสงกรานต์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงรวมวันขึ้นปีใหม่มาไว้ในวันที่ ๑ เมษายน เรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์
คำว่า ตรุษ แปลว่า ตัดหรือขาด คือ ตัดปี ขาดปี หมายถึง วันสิ้นปี ตรุษเป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยความสวัสดีในรอบปีหนึ่ง ๆ เรียกว่า ส่งปีเก่า
สงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้นการย้ายที่ เคลื่อนที่ คือ พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายน ทุกปี แต่วันสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก
ความสำคัญ
เป็นเทศกาลวันสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ของคนไทย ซึ่งยึดถือสืบเนื่องมาแต่โบราณ เป็นระยะเวลาเข้าฤดูร้อนที่เสร็จจากการเก็บเกี่ยวข้าว จึงว่างจากการงานประจำ มีการละเล่นสนุกสนานรื่นเริงร่วมกันในแต่ละหมู่บ้าน ตำบลหรือเมืองหนึ่ง ๆ แม้ปัจจุบันทางราชการประกาศวันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสิ้นปี และวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ประเพณีการทำบุญและการรื่นเริงในวันตรุษและสงกรานต์ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทย
ตรุษสงกรานต์ถือเป็นนักขัตฤกษ์ที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาแต่ดึกดำบรรพ์ ก่อนจะถึงวันสงกรานต์จะมีการเตรียมเครื่องแต่งตัวประกวดประขันกัน
พิธีกรรม
วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าเป็นวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ จึงต้องเตรียมงานเป็นการใหญ่จนมีคนพูดกัน "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมเป็นพิเศษ คือ
๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย
๒. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษ ๒ อย่าง คือ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวนหรือกะละแมในวันสงกรานต์ ซึ่งสิ่งของ ๒ อย่างนี้ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทำบุญตรุษสงกรานต์เหมือนกับการทำกระยาสารท เพราะนอกจากทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้วยังแลกเปลี่ยนแจกจ่ายกันในหมู่บ้านใกล้เคียง
๓. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอกให้สะอาดหมดจดโดยถือว่าสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีใหม่และต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
๔. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน เมื่อทำความสะอาดกุฏิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพื่อให้ดูร่มรื่นชื่นตาชื่นใจของผู้มาทำบุญในวันสำคัญ เพราะต้องใช้ในกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร สวดมนต์ เลี้ยงพระ การฟังเทศน์ การก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ บังสุกุลอัฐิ การปล่อยนกปล่อยปลา บางวัดชาวบ้านยังใช้ลานวัดเป็นสถานที่รื่นเริงสนุกสนาน เช่น สาดน้ำและมีการเล่นอื่น ๆ เช่น ช่วงชัย ชักกะเย่อ เข้าทรงแม่ศรี เป็นต้น
การทำบุญถือเป็นกิจกรรมสำคัญในภูมิภาคนั้น ถ้าตรุษกับสงกรานต์ต่อเนื่องกันจะทำติดต่อกันไป แต่ถ้าไม่ต่อเนื่องกันก็จะทำบุญอันเป็นส่วนของตรุษส่วนหนึ่งแล้วเว้นระยะไปเริ่มทำบุญวันสงกรานต์อีกส่วนหนึ่ง แต่ในบางจังหวัดแม้วันตรุษและสงกรานต์อยู่ห่างกันมากน้อยเพียงใด ก็คงทำบุญต่อเนื่องกันจนสิ้นวันสงกรานต์ การรื่นเริงจะเริ่มมีตั้งแต่วันตรุษติดต่อกันไปจนสิ้นวันสงกรานต์ ไม่ว่าวันตรุษและวันสงกรานต์จะต่อเนื่องกันหรือไม่
แต่ในส่วนกลางคือกรุงเทพมหานคร มีการทำบุญและการรื่นเริงกัน เฉพาะในวันมหาสงกรานต์เท่านั้น และมักจะมีวันเดียวกันคือวันที่ ๑๓ เมษายน
การทำบุญ
มีการทำบุญในตรุษสงกรานต์ทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ เช่น การก่อพระเจดีย์ทราย การปล่อยนกปล่อยปลา การสรงน้ำพระ การสรงน้ำพระพุทธรูป การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร การรดน้ำผู้ใหญ่ การทำบุญอิฐ การสาดน้ำ การแห่นางแมว
สาระ
๑. เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงการที่ชีวิตได้ผ่านพ้นไปปีหนึ่ง และจะต้องเผชิญกับชีวิตในปีใหม่อีกต่อไปด้วยความไม่ประมาท
๒. เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้นไป
๓. เป็นการส่งเสริมความสำนึกในกตัญญูกตเวทีที่แสดงต่อบุพการี และบรรพบุรุษ
๔. เป็นการสืบทอดการละเล่น การละเล่นพื้นเมือง และประเพณีอันดีงาม
๕. มีการชักชวนให้งดเว้นอบายมุข เช่น งดเว้นการดื่มสุราเมรัย การเล่นการพนัน


ชื่อ
ประเพณีทอดกฐิน
ภาค
ภาคกลาง
จังหวัด
กรุงเทพมหานคร


เป็นประเพณีทำบุญอย่างหนึ่งของไทยที่ทำในระยะเวลาที่กำหนดให้ในปีหนึ่ง ๆ เรียกว่ากฐินกาล
ช่วงเวลา
ระหว่างวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ จะทำก่อนหรือหลังจากนี้ไม่ได้
ความสำคัญ
เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม และไทยธรรมเป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์
คำว่า กฐิน ตามภาษาบาลีแปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าเพื่อเย็บของพระภิกษุให้สะดวกขึ้น เนื่องจากสมัยก่อน เครื่องมือที่จะใช้เย็บได้สะดวกไม่มีเหมือนในปัจจุบัน การเย็บจีวรต้องเย็บหลาย ๆ ชิ้นต่อกัน และประสานกันให้มีรูปเหมือนคันนาจึงต้องอาศัยไม้สะดึงช่วยในการขึงผ้า ฉะนั้น ผ้าที่ทำด้วยไม้สะดึงเพื่อการนี้โดยเฉพาะจึงเรียกว่า ผ้าเพื่อกฐิน และยังเรียกผ้ากฐินตามความหมายเดิมเรื่อยมาจนปัจจุบัน แม้ว่ามีผ้าสำเร็จรูปทำเพื่อทอดกฐินโดยไม่ได้อาศัยไม้สะดึงก็ตาม
แต่เดิมกฐินเป็นเรื่องของสงฆ์โดยเฉพาะ ภิกษุสงฆ์ต้องไปหาผ้ามาเองจากที่ต่าง ๆ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ด้วยวิธีบังสุกุลและนำผ้านั้นมาเย็บย้อมเอง ต่อมาราษฎรมีจิตศรัทธานำผ้ามาถวายในที่สุดพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้รับผ้าจากราษฎรได้และเมื่อทรงอนุญาตให้กรานกฐินจึงเป็นสาเหตุให้ราษฎรบำเพ็ญกุศลด้วยการทอดกฐิน โดยนัดแนะกับพระ พระจัดการต้อนรับดังนี้เป็นต้น คำว่า ทอด คือ เอาไปวางไว้ การทอดกฐิน จึงหมายถึงการนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป โดยมิได้ตั้งใจว่าจะถวายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ
ประเพณีการทอดกฐินของไทยมีหลักฐานปรากฏว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ และได้ถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันซึ่งมีทั้งกฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลลงไปจนถึงกฐินของราษฎร
พิธีกรรม
กฐินมี ๒ ประเภท คือ กฐินราษฎร์ และกฐินหลวง
กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดถวายหรือพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์และองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ ไปทอดถวาย
เมื่อถึงกำหนดเทศกาลทอดกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินพระอารามหลวงในเขตที่ใกล้พระนคร เป็นส่วนมากเริ่มพระกฐินหลวงแต่วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันแรก กำหนดเสด็จ ฯ ถวายผ้าพระกฐิน ๓ วัดหรือ ๒ วัด รุ่งขึ้นแรม ๗ ค่ำ พักวันหนึ่งวันที่พักนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จ ฯ ไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เจ้าพนักงานเตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินเป็นกระบวนพยุหยาตราสถลมารคส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคจะต้องกำหนดในวันแรม ๙ ค่ำ ก็เพราะวันนี้ทางจันทรคติปรากฏว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงพระนครจะขึ้นมาก และนิ่งไม่ไหลขึ้นลง สะดวกในการที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ สับเปลี่ยนกันไปแต่ละปี
พระอารามหลวงที่ทางราชการกำหนด เป็นวัดที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็น
ประจำปี และเป็นหน้าที่ของสำนักพระราชวังที่จะต้องเตรียมการต่าง ๆ ในปัจจุบันมี ๑๖ วัด (๑) คือ
กรุงเทพมหานคร:
๑. วัดบวรนิเวศวิหาร (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๖)
๒. วัดสุทัศน์เทพวราราม (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๘)
๓. วัดพระเชตุนวิมลมังคลาราม (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๑)
๔. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๕)
๕. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๗)
๖. วัดมกุฎกษัตริยาราม (มีพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ ๔)
๗. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๔)
๘. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (เป็นวัดคู่พระบรมราชวงค์จักรี)
๙. วัดราชาธิวาส ( มีพระบรมราชสรีรังคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และ
พระบรมราชสรีรังคารสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
๑๐.วัดราชโอรสาราม (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๓)
๑๑.วัดอรุณราชวราราม (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๒)
๑๒.วัดเทพศิรินทราวาส (รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างอุทิศถวายพระบรมราชชนนี)
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา :๑๓.วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกสร้างขึ้นไว้ ณ นิวาสสถานเดิม)
๑๔. วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เป็นวัดที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชดำริให้สร้างเป็นวัดประจำพระราชวังบางปะอิน)
จังหวัดนครปฐม:
๑๕.วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม (มีพระบรมราชสรีรังคารรัชกาลที่ ๖)
จังหวัดพิษณุโลก :๑๖.วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (เป็นวัดในประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ ถือเป็นราชประเพณีเมื่อพระมหากษัตริย์เสวยราชย์บรมราชาภิเษกแล้วจะต้องเสด็จฯ ไปถวายสักการะพระพุทธชินราช
ส่วนพระอารามหลวงที่นอกเหนือจาก ๑๖ วัด เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา กล่าวคือ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การคณะชน หรือเอกชนขอพระราชทานผ่านกรมการศาสนา เพื่อจัดบริวารกฐินให้เป็นของพระราชทาน แล้วผู้ได้รับพระราชทานจัดเพิ่มเติมหรือจัดจตุปัจจัยสมทบซึ่งเรียกกันว่า กฐินพระราชทาน แต่ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปถวายวัดใด ๆ ตามพระราชอัธยาศัย จะเป็นพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ตาม เรียกว่า กฐินต้น ซึ่งโดยมากมักจะเสด็จไปถวายผ้ากฐินวัดราษฎร์ที่ขาดการบูรณะ
(
๑) ถ้าสมเด็จพระสังฆราชประทับประจำที่วัดนอกจาก ๑๖ วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดนั้นเป็นประจำ การทอดกฐินเป็นพระราชประเพณีอย่างหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธุระบำเพ็ญพระราชกุศลมาตั้งแต่สมัยโบราณ การเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินสมัยก่อน มีการเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและชลมารค เป็นการแห่พระกฐิน ซึ่งจุดมุ่งหมายเดิมของการแห่พระกฐินด้วยกระบวนพระพยุหยาตรานี้ เพื่อตรวจตราพลรบ อาวุธยุทธภัณฑ์ และฝึกซ้อมรบทั้งทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางน้ำ)
กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่ราษฎรจัดทำขึ้น แบ่งออกเป็น มหากฐินและจุลกฐิน
มหากฐิน คือ การนำผ้าสำเร็จรูปแล้วไปถวายพระดังที่นิยมทำกันอยู่ทุกวันนี้ และมักนิยมเรียกกันว่า กฐิน ถ้ารวมกันออกทุนทรัพย์และร่วมกันจัดทอดเรียกว่า กฐินสามัคคี
การทอดกฐินนี้ ก่อนจะไปทอดกฐินวัดใดจำเป็นต้องไปแสดงความจำนงให้ทางวัดทราบเป็นการล่วงหน้าก่อนเรียกว่า การจองกฐิน ซึ่งจองได้แต่เฉพาะวัดราษฎร์เท่านั้นสำหรับวัดหลวงจะต้องขอพระราชทานผ่านกรมการศาสนาดังได้กล่าวแล้ว เมื่อจองแล้วควรเขียนหนังสือปิดประกาศไว้เพื่อให้รู้ทั่วกันว่าวัดนี้จองแล้ว ถือกันว่าใครจองก่อนก็ได้ทอดก่อน แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธามากกว่าเป็นผู้ทอดก่อน ดังนั้น ในคำจองจึงปรากฏชื่อผู้ทอด จำนวนองค์กฐิน บริวารกฐิน กำหนดวันเวลาทอด แต่ถ้าใครมีศรัทธามากกว่านี้ จะเป็นผู้ได้ทอด เป็นต้น
การจองกฐินนี้ เพื่อให้ทางวัดและชาวบ้านในละแวกนั้นเตรียมการต้อนรับ ทั้งในเรื่องความสะดวกสบายและอาหารการกิน เมื่อถึงวันกำหนดจะต้องนำผ้าซึ่งจะทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งอาจเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้เย็บ เย็บแล้วยังไม่ได้ย้อม หรือย้อมแล้วก็ได้ เรียกว่าองค์กฐิน และบริวารกฐิน ได้แก่พวกจตุปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัว ว่าจะต้องมีมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้มักจะมีผ้าห่มพระประธานในโบสถ์อย่างน้อยผืนหนึ่ง เทียนสำหรับจุดในการสวดพระปาติโมกข์ ๒๔ เล่ม นำไปยังวัดที่จะทอด จะมีการสมโภชองค์กฐินก่อนก็ได้ และเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว จะฉลองต่ออีกก็ได้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ ในขณะนำไปทอด อาจมีการแห่กฐินจะแห่ไปทางน้ำหรือทางบกขึ้นอยู่กับการคมนาคมทางไหนจะสะดวกกว่ากัน หรือจะไปอย่างเงียบ ๆ ก็ได้ เมื่อมาถึงวัด พระภิกษุมาพร้อมแล้ว ผู้ทอดกฐินอุ้มไตรกฐิน พนมมือ หันหน้าไปทางพระพุทธรูปว่า "นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทธสฺส "๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐินว่าดังนี้
ถ้าเป็นวัดมหานิกาย "อิมํ สปฺปริวารํ กฐินจีวรทุสสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม ทุติยมฺปิ อิมํ สปฺปริวารํ กฐินจีวรทุสสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม ตติยมฺปิ อิมํ สปฺปริวารํ กฐินจีวรทุสสํ สงฺฆสฺส โอโณชยาม"
ส่วนวัดธรรมยุต กล่าวคำถวายดังนี้ "อิมํ ภนฺเต สปฺปริวารํ กฐินทุสสํ โอโณชยาม สาธุโณ ภนฺเต สงฺโฆ อิมํ สปฺปริวารํ กฐินทุสสํ ปฏิคฺคณฺหาตุ ปฏิคฺคเหตวา จ อิมินา ทุสเสน กฐินํ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย"
คำกล่าวถวายนี้ หัวหน้าผู้ทอดจะกล่าวนำเป็นคำ ๆ หรือประโยคก็ได้ หรือกล่าวคนเดียวก็ได้ บางครั้งมีการโยงสายสิญจน์ถึงกันหมดด้วย หรืออาจจะกล่าวคำถวายเป็นภาษาไทยซึ่งแปลจากคำถวายภาษาบาลีก็ได้ เมื่อจบคำถวายแล้วพระสงฆ์รับ"สาธุ"เจ้าภาพประเคนไตรกฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง (โดยมากมักจะเป็นรูปที่ ๒) หรืออาจวางไว้ข้างหน้าพระสงฆ์ก็ได้ ต่อจากนี้จะถวายบริวารกฐินเลยก็ได้ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี หรือจะรอฟังพระสงฆ์อปโลกนกรรมจึงจะถวายบริวารกฐินก็ได้
การทำอปโลกนกรรม คือ ประกาศมอบผ้ากฐินแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้ซึ่งมีจีวรเก่ามีพรรษามาก สามารถกรานกฐินได้ถูกต้อง ฉลาดมีความรอบรู้ธรรมวินัยเป็นต้น ภิกษุอีก ๒ รูปสวดออกนามภิกษุที่จะเป็นผู้รับผ้ากฐินเพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมสงฆ์เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านภิกษุอีก ๒ รูปก็สวดประกาศซ้ำเป็นภาษาบาลี เรียกว่าญัตติทุติยุกรรม เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านก็เป็นอันว่าภิกษุที่ได้รับการเสนอนามเป็นผู้รับผ้ากฐินไป เสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นอันหมดภาระหน้าที่ของเจ้าภาพ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว อาจมีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงส์กฐินหรือไม่มีก็ได้ บางแห่งอาจจัดให้มีการสนุกสนานรื่นเริง มีการแข่งเรือ เล่นเพลงเรือ เป็นต้น หลังจากนี้เป็นวิธีการกรานกฐินซึ่งเป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยเฉพาะ กล่าวคือ ภิกษุผู้ครอง
ผ้ากฐินนำผ้ากฐินไปทำเป็นจีวรอย่างใดอย่างหนึ่งให้แล้วเสร็จในวันนั้น และนำมาบอกในที่ประชุมสงฆ์ภายในพระอุโบสถเพื่ออนุโมทนา
เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว มักปักธงรูปจระเข้ไว้ที่วัดด้วย จะเป็นที่ศาลาวัด หน้าโบสถ์ หรือที่ใดๆที่เห็นง่ายเพื่อแสดงให้รู้ว่าวัดนั้นทอดกฐินแล้ว เพราะว่าวัดหนึ่ง ๆ สามารถรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียว
จุลกฐิน เป็นกฐินอย่างหนึ่งที่ราษฎรจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ ต่างกับกฐินธรรมดาทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายมาปั่น ทอเป็นผืน กะตัด เย็บย้อมให้เสร็จในวันเดียว จุลกฐินจึงหมายถึงผ้าที่ทำสำเร็จมาจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆแต่ในบางท้องถิ่น เรียกว่า กฐินแล่น ซึ่งแปลว่า รีบด่วนจึงเข้าความหมายเพราะจุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องเร่งทำให้เสร็จในวันนั้น มักจะทำในระยะเวลาจวนหมดเขตการทอดกฐิน เช่น ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นต้น
ความเป็นมาของจุลกฐิน เริ่มจากในสมัยพุทธกาล ครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงเห็นด้วยพระพุทธญาณว่าพระอนุรุทธมีจีวรอันเก่าขาดใช้การเกือบไม่ได้และก็เป็นเวลาจวนจะสิ้นสุดกฐินกาลแล้ว จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ ต่างก็ออกช่วยหาผ้าบังสุกุลจีวรตามที่ต่างๆ ต่ได้ผ้ายังไม่เพียงพอจะเย็บจีวรได้ ความทราบ ถึงนางเทพธิดาซึ่งเคยเป็นปราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า) ของพระเถระในชาติก่อน จึงได้เนรมิตผ้าทิพย์หมกไว้ในกองขยะ เมื่อพระอนุรุทธผ่านมาพบเข้าจึงชักผ้าบังสุกุลแล้วนำไปสมทบในการทำจีวร ในการทำจีวรครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จเป็นประธานและสนเข็ม พระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ชาย-หญิงได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียง นับว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำผ้าแล้วเสร็จในวันนั้นก่อนอรุณขึ้น เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของหมู่ภิกษุสงฆ์ ถ้าชักช้าจะทำให้ผู้ครองผ้ากฐินไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถในการกรานกฐิน นอกจากนี้เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระพุทธองค์เสด็จเป็นประธานในที่นั้นด้วย จะเห็นได้ว่าในตอนแรก ความยากลำบากในการทำจุลกฐินตกอยู่กับพระภิกษุสงฆ์ แต่ปัจจุบัน ความยากลำบากนี้ตกอยู่แก่ผู้ทอดเพราะต้องจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง พระภิกษุสงฆ์เป็นเพียงผู้รับผ้ากฐินและนำไปกรานกฐินเท่านั้น ฉะนั้นจุลกฐินนี้คงมีเค้ามาจากการที่วัดบางวัดไม่ได้รับกฐินหลงเหลืออยู่ และจวนหมดเขตทอดกฐินแล้ว ชาวบ้านจึงช่วยกันขวนขวายจัดทำเมื่อระยะเวลากระชั้นชิด อีกประการหนึ่งสมัยก่อนผ้าสำเร็จรูปยังไม่มีขาย ประกอบกับลักษณะความเป็นอยู่แบบเลี้ยงตนเองและครอบครัวมีกิจการงานอย่างใด ก็ร่วมมือกันเมื่อต้องการผ้ากฐินอย่างรีบด่วนเช่นนี้ จึงต้องหาทางและร่วมแรงร่วมใจกันให้เป็นผลสำเร็จ
จุลกฐินนี้นิยมทอดกันในภาคเหนือ แพร่หลายเข้ามายังภาคกลางทางจังหวัดสุโขทัย และเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก น่าจะนำมาจากราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า ๒๖๘ ว่า"ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ (เดือน ๑๒)โปรดให้ทำจุลกฐิน คือทอดผ้ากฐินให้เสร็จในวันนั้น ผู้ทำจุลกฐินส่วนมากจะเป็นผู้มีทรัพย์มาก เพราะต้องอาศัยกำลังคนและทุนทรัพย์มาก ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำจุลกฐินกันแล้ว
วิธีทำจุลกฐิน เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายจากต้น มักจะนำเมล็ดปุยฝ้ายไปผูกไว้ แล้วทำทีไปเก็บมาจากต้นฝ้าย บางตำราก็ว่า เริ่มตั้งแต่ขุดดินทำแปลงปลูกฝ้าย แล้วนำต้นฝ้ายปลูกลง เอาเมล็ดฝ้ายมาผูกติดกับต้นฝ้าย ซึ่งเป็นเรื่องสมมติอีก เมื่อเก็บเมล็ดฝ้ายมาแล้ว (มักจะใช้สาวพรหมจารีเป็นผู้เก็บ) นำมากรอเป็นด้าย ทอเป็นผืนผ้า กะตัดเย็บย้อม ตากให้แห้ง โดยแบ่งหน้าที่กันทำ แล้วนำไปทอดให้พระสงฆ์ได้กรานกฐินทันในวันนั้น
การทอดกฐินชนิดนี้ ถือ ว่าได้อานิสงส์มากกว่าทอดกฐินธรรมดาหลายเท่าเพราะเหตุว่าทำในช่วงเวลาจำกัด คือ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงรุ่งอรุณของวันใหม่และต้องใช้กำลังคน ทุนทรัพย์มาก ถ้าทำไม่ทันเป็นอันเสียพิธีฉะนั้นเมื่อทำเสร็จทันเวลาจึงส่งผลต่อจิตใจของผู้ทำบุญเป็นอย่างมาก
ยังมีกฐินอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า กฐินโจร เป็นกฐินที่ราษฎรจัดทำขึ้นในวันจวนจะหมดเขตกฐินกาล คือ ในราว ๆ วันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ด้วยการสืบหาวัดที่ยังไม่ได้รับการทอดกฐินและจัดหาผ้ากฐินไปทอด เรียกว่ากฐินตก กฐินตกค้าง หรือกฐินจรก็มี เพราะเป็นวัดที่ตกค้างไม่มีผู้ใดมาจองกฐินไว้ ซึ่งตามธรรมดาการทอดกฐินต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้พระภิกษุสงฆ์วัดนั้นทราบล่วงหน้า จะได้เตรียมการต้อนรับและเพื่อมิให้มีการทอดกฐินซ้ำ แต่กฐินโจรนี้ไม่มีการบอกล่วงหน้า จู่ ๆ ก็ไปทอดเฉย ๆ เป็นการจู่โจมไม่ให้พระสงฆ์รู้ ส่วนวิธีการทอดนั้นเหมือนกับการทอดกฐินทั่วไป กล่าวคือ เจ้าภาพกล่าวคำถวายผ้ากฐิน ถวายบริวารกฐิน ฟังพระอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี
การทอดกฐินประเภทนี้นับว่าได้อานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินธรรมดามากเพราะเป็นการอนุเคราะห์พระสงฆ์ให้มีโอกาสกรานกฐินในระยะเวลาจวนจะหมดเขตการทอดกฐินอยู่แล้ว
สาระ
การทำบุญกฐินนี้ก่อให้เกิดอานิสงส์ทั้งผู้ทอดและภิกษุสงฆ์ สำหรับภิกษุสงฆ์นั้น มีบัญญัติไว้ในพระวินัยว่าผู้กรานกฐินแล้ว จะได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณะโภชน์ได้
๔. ทรงอดิเรกจีวรได้ได้ตามปรารถนา (ในพระวินัยกำหนดให้ภิกษุเก็บผ้าจีวรเกินจากสำรับที่นุ่งไม่ได้ เก็บได้เพียงแค่ ๑๐ วัน หลังจากนี้ต้องสละให้ผู้อื่นไป ถ้ากรานกฐินแล้วเก็บได้เกินกว่านี้)
๕. ลาภที่เกิดขึ้น ให้เป็นของภิกษุผู้จำพรรษาในวัดนั้น ซึ่งได้กรานกฐินแล้ว
การที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ในพระวินัย ให้พระสงฆ์ผู้กรานกฐินแล้วได้รับการยกเว้น เพราะเกิดปัญหาและข้อขัดข้องบางประการ อันก่อให้เกิดความลำบากแก่ภิกษุสงฆ์ เช่น ต้องบอกลา ถ้าอยู่คนเดียวก็บอกลาไม่ได้ การต้องเอาจีวรไปให้ครบ การฉันอาหารล้อมวงกันไม่ได้ การเก็บจีวรสำรองไว้ไม่ได้ นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นความลำบากของภิกษุ จึงมีพุทธานุญาตให้กรานกฐิน นับเป็นความดีความชอบประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ต้องร่วมมือร่วมใจกัน พระพุทธองค์จึงทรงกำหนดข้อยกเว้นไว้ให้
ส่วนอานิสงส์สำหรับผู้ทอดนั้น เชื่อกันว่าได้บุญกุศลแรง เพราะปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียวและมีฤดูกาลทอด เป็นผลให้ผู้ทอดมีจิตใจแจ่มใสและปีติยินดีในบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้ นอกจากนี้ยังสามารถขจัดความโลภ โกรธ หลง โดยทางอ้อมได้อีกด้วย กล่าวคือ กำจัดความโลภในวัตถุทานที่ได้บริจาคแล้วนั้น กำจัดความโกรธเพราะได้ฟังอนุโมทนาบุญนั้น กำจัดความหลงเข้าใจผิดเพราะทำด้วยมือของตนเองในบุญนั้นได้

ชื่อ
งานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี
ภาค
ภาคกลาง
จังหวัด
กรุงเทพมหานคร


งานบุญประจำปีทางฝั่งธนบุรีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่รู้จักของคนฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ อย่างกว้างขวางในสมัยก่อน คือ "งานชักพระวัดนางชี" หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ"
วัดนางชีเป็นวัดเก่า ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยไหน แต่สันนิษฐานได้ว่าเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีได้สร้างร่วมกับพระยาฤาชัยณรงค์ และออกหลวงเสนาสุนทร สาเหตุที่สร้างก็เนื่องมาจากแม่อิ่มลูกสาวของเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีป่วยอย่างไม่รู้สาเหตุ จนกระทั่งมีชีปะขาวมานิมิตเข้าฝันให้เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีแก้บนโดยให้ลูกสาวบวชชี ดังนั้นเมื่อแม่อิ่มหายป่วย เจ้าพระยาพิชัยมนตรีจึงให้ลูกสาวบวชชีพร้อมกับสร้างวัดนี้ วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างในปลายแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (พระราชาธิราชที่ ๒) เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากอยู่ระหว่างทำสงครามกับพม่าก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ่อค้าสำเภาชื่อพระยาโชฏึกราชเศรษฐี ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีนอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามได้เป็นผู้บูรณะและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัด ได้ดัดแปลงและแก้ไขรูปทรงพระอุโบสถพระวิหารให้เป็นแบบจีน ประดับประดาด้วยเครื่องเคลือบ และนำตุ๊กตาหินแบบจีนและหินปูทางเดินมาจากเมืองจีนเพื่อมาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ นอกจากนี้ได้ถวายเครื่องใช้แบบจีนเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเตียงไม้มะเกลือประดับลายหอยมุกและหินอ่อน ซึ่งเป็นของลูกสาวที่เสียชีวิตอยู่บนเตียงนี้เมื่ออายุประมาณ ๑๘ ปี ๑ หลัง เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายวัดนี้แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระอารามหลวง ได้พระนามว่า "วัดนางชีโชติการาม" ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระยาราชานุชิต (จ๋อง) ได้บูรณะและปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้งและถวายเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
ปูชนียวัตถุพิเศษที่สำคัญในวัดได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกซึ่งมีจำนวนไม่แน่นอน อาจจะเพิ่มหรือลดลงแตกต่างกันไปในแต่ละปี ก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้ประชาชนสรงน้ำ จะมีการตรวจนับจำนวนพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกทุกครั้ง เมื่อแห่พระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้วก็จะตรวจอีกครั้งหนึ่งก่อนจะนำไปประดิษฐานเก็บไว้บนกุฎิเจ้าอาวาส พระบรมธาตุนั้นจะมีขนาดเล็กมากคือมีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของเมล็ดข้าวสารหัก เวลาตรวจนับจะต้องใช้แว่นขยายช่วยจึงจะมองเห็นชัด กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาได้เขียนเล่าเกี่ยวกับจำนวนพระธาตุที่เพิ่มขึ้น และลดลงไว้ในหนังสือตำราพระธาตุว่า พระบรมธาตุและพระธาตุนี้ก็เป็นของแปลก ถ้าเป็นพระบรมธาตุก็ว่าเสด็จมาเองบ้าง เสด็จไปเองบ้าง ครั้งหนึ่งประมาณ ๒๐ ปีล่วงแล้ว เขาพูดว่าพระบรมธาตุที่วัดนางชี อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี บางปีก็มี
จำนวนเพิ่มขึ้นบางปีก็มีจำนวนลดลง ที่ว่าไปพิสูจน์นั้น ได้เป็นจริงดังที่เขาว่ากัน ปีแรกที่ไปดูมีจำนวนมาก ครั้งที่สองน้อยลง ครั้งที่สามจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงจำนวนที่ไปดูครั้งแรก สงสัยว่าทางวัดจะเอาออกหรือเพิ่มขึ้นเพื่อลวงว่ามีอภินิหาร ถามเจ้าอาวาสท่านบอกว่าไม่เคยเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าอาวาสมาหลายปีแล้วไม่เคยเอาออกมาดูเลย เอาออกมาสรงน้ำปีละครั้งคือวันแห่และตรวจต่อหน้ากรรมการด้วย
พระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีมิได้บรรจุไว้ในพระเจดีย์ดังเช่นพระบรมธาตุที่อื่นแต่บรรจุไว้ในผอบแก้วซึ่งเป็นขวดน้ำหอมจากฝรั่งเศสที่ชาววังใช้น้ำหอมผสมน้ำอาบกันในสมัยก่อน แล้วประดิษฐานไว้ ณ มณฑปที่จัดทำเป็นพิเศษ ตามประวัติที่เล่ากันต่อ ๆ มากล่าวว่า เมื่อ ประมาณ พ.ศ ๑๒๑๙ คณะพราหมณ์ ๓ ท่าน และชาวจีน ๙ ท่าน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุผอบทองคำ ๒ ผอบมาโดยเรือสำเภาจากชมพูทวีป เพื่อไปประดิษฐานไว้ที่เมืองปทาคูจาม อาณาจักรศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช) และที่เมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง แต่เมื่อได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานที่เมืองนครศรีธรรมราช (ในปัจจุบันนี้ได้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระสถูปเจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วได้เดินทางต่อไปจนเรือได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงที่ตรงบริเวณปากน้ำคลองด่านปัจจุบัน (ตามสภาพภูมิศาสตร์ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยทางแถบเมืองธนบุรียังเป็นป่าทึบ และพื้นดินยังไม่งอกออกมามากมายเท่าในปัจจุบัน) คณะพราหมณ์และชาวจีนจึงได้
พร้อมใจกันอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุขึ้นห่างจากที่เรือล่มประมาณ ๕ไมล์ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีก็ตกลงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ ที่นั้น แต่ไม่ทราบว่าได้ประดิษฐานไว้อย่างไร เมื่อนานเข้าผอบทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้ถูกฝังจมดิน พระบรมสารีริกธาตุที่ทูลเชิญเสด็จมาในครั้งนั้นมีด้วยกัน ๕ พระองค์คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ส่วนใหญ่ ส่วนแขน ซี่โครง หัวเข่าและขา ต่อมาในสมัยพระชัยราชา (พระเอก) กษัตริย์องค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๘๒ เป็นปีที่วัดนางชีสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบรมสารีริกธาตุเสด็จขึ้นมาให้ปรากฏแก่แม่ชีอิ่มให้เห็นทั้ง ๕ พระองค์ แม่ชีอิ่มได้ทูลเชิญเสด็จบรรจุไว้ในผอบแก้วและได้ประดิษฐานไว้ ณ วัดนางชีแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา
ช่วงเวลา
จัดขึ้นในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หลังจากวันลอยกระทงและเทศน์มหาชาติแล้ว ทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ หรือที่รู้จักกันในสมัยก่อนว่า "งานชักพระ" หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ"
ความสำคัญ
เป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และยังแตกต่างไปจากงานชักพระทางจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นประเพณีอันสืบเนื่องมาจากพระพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์เมื่อเสด็จมาจากดาวดึงษ์แล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธองค์ประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้แห่แหนไปสู่ที่ประทับ ซึ่งจัดทำกันในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษาโดยอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกที่อยู่บนรถหรือบนเรือแล้วให้เรือชาวบ้าน หรือคนช่วยกันจับปลายเชือกลากพระไป แต่งานชักพระวัดนางชีเป็นการเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบกแทนแล้วชักแห่ไปทางเรือจากหน้าวัดนางชีไปตามลำคลองด่าน เลี้ยวซ้ายออกไปตามคลองบางกอกใหญ่ และผ่านมาช่วงปลายของคลองซึ่งเรียกว่าคลอง
ชักพระ (ปัจจุบันนี้คำว่าคลองชักพระยังปรากฎเป็นชื่อของสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณนั้น เช่น ตำบลคลองชักพระ สะพานคลองชักพระ ถนนชักพระ เป็นต้น) แล้วอ้อมไปทะลุคลองบางกอกน้อยล่องขบวนไปตามคลองบางกอกน้อย คาดว่าพอถึงวัดไก่เตี้ยเขตตลิ่งชันประมาณตอนเพลหยุดขบวนและขึ้นเลี้ยงพระที่นั่น เสร็จแล้วก็ล่องขบวนไปออกปากคลองบางกอกน้อย เลี้ยวขวาเลียบมาตามลำน้ำเจ้าพระยาแล้วมาเข้าคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แล้ววกมาเข้าปากคลองด่านกลับไปยังวัดนางชีตามเดิม การแห่ครั้งนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า "แห่อ้อมเกาะ"
พิธีกรรม
ในสมัยก่อนงานชักพระวัดนางชีเป็นงานเทศกาลประจำที่ครึกครื้นมโหฬารที่สุดในแถบนั้น ผู้ที่เข้าขบวนแห่จะแต่งตัวกันอย่างสวยงาม ประณีต เรียบร้อยจะเตรียมซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไว้ตั้งแต่มีงานภูเขาทอง เป็นที่เชื่อกันว่าในปีใดถ้าไม่มีการแห่พระบรมธาตุจะต้องมีอันเป็นไปอันทำให้ชาวบ้านแถบนั้นเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติต่าง ๆ แม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางรัฐบาลห้ามไม่ให้มีการแห่แหนหรือจัดงานใดเลย แต่งานแห่พระบรมธาตุก็ยังคงต้องดำเนินไปตามประเพณีโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุในสมัยก่อนจะเป็นขบวนเรือพายช่วยกันชักจูงเรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไป ทางวัดจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้สรงน้ำแต่เช้าตรู่ และจะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากวัดตั้งแต่ ๖.๐๐ น. ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้นำพระบรมสาริริกธาตุมาให้สรงน้ำตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ ของวัน แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึงเวลา ๙.๐๐ น. ของวันต่อมา เรือที่มาร่วมขบวนมีจำนวนหลายร้อยลำและมาจากตำบลทั้งใกล้และไกล เรือที่มา
ร่วมขบวนแห่มีหลายแบบ ผู้คนในเรือแต่ละลำก็จะแต่งตัวให้เหมือนกันแล้วแต่จะตกลงกัน บางลำก็แต่งเป็นตัวตลกเช่นใส่หัวล้านทั้งลำ หรือจัดให้มีการเล่นละคร ลิเก เพลง ในเรือเป็นการสนุกสนาน นอกจากนั้นก็มีเรือที่ลากจูงเรือพระบรมธาตุ เรือพวกนี้จะเป็นเรือที่ตกแต่งหัวเรือและท้ายเรือไว้อย่างสวยงาม เช่น เป็นหัวสุครีพ หงส์ เป็นต้น เรือพวกนี้ทางวัดต่าง ๆ จะจัดเตรียมไว้ พอจวนถึงงานชักพระในละแวกนั้นจะไปยืมเรือที่วัดมาเตรียมยาเรือและตกแต่งเพื่อเข้าขบวนแห่ เรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจะเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ตกแต่งอย่างสวยงามมีวงปี่พาทย์บรรเลงสมโภชไปในเรือตลอดทาง กาญจนาคพันธุ์ เล่าไว้ว่า กระบวนแห่ชักพระนั้นเป็นเรือยาวอย่างที่เรียกกันว่า "เรือแล่น" ...ลงน้ำมันสวยสดงดงามนั่งได้อย่างน้อยก็ ๕-๖ คน พายก็ใช้พายที่เรียกว่า "พายคิ้ว" คือมีลวดลายตลอดกลางใบพาย ทุกลำมีแพรแดงผูกที่หัวเรือ ...เรือที่มีคนพาย
แต่งชุดต่าง ๆ แปลก ๆ เหล่านี้มีตั้ง ๒๐๐ ลำ อีกพวกหนึ่งเป็นเรือยาวพวกเรือชะล่า เรือมาด ....เรือพวกนี้คนนั่งอย่างน้อยราว ๒๐ คน......รวมทั้งหมดเห็นจะราวสัก ๕๐ ลำ เรือพวกนี้เข้าใจว่าจะมาจากที่ไกล ๆ ...นอกจากนี้ก็เป็นเรือแล่นที่แสดงการเล่นละคร ลิเก ฯลฯ ในเรือด้วยมีราวสัก ๑๐ ลำ (แต่ไม่ใช่แสดงทั้งโรง ลำหนึ่ง ๆ ก็มีเพียง ๒-๓ ตัว) ส่วนเรือพระนั้นเป็นเรือใหญ่ตั้งบุษบกตกแต่งอย่างสวยงามทั้งลำมีเรือจูงอีกพวกหนึ่งราวสัก ๒๐ ลำ ในขณะที่ขบวนแห่เคลื่อนไปนั้น เมื่อถึงสะพานใดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นจากเรือ ให้คนถือเดินข้ามสะพานไปลงเรือทางอีกด้านหนึ่งตลอดทางเมื่อถึงวัดไก่เตี้ยจะเปิดโอกาสให้คนบริเวณนั้นลงมาสรงน้ำพระบรมธาตุในเรือขณะที่หยุดพักจะมีการละเล่น การแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน
ระยะต่อมา ได้เปลี่ยนมาใช้เรือยนต์จูงเรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การละเล่นที่สนุกสนานก็ยังคงมีอยู่ เรือที่ตามเรือพระบรมธาตุก็ น้อยลง สมัยนี้ใช้เรือยนต์ลากเรือทรง เรือพายน้อยไปเพราะพายไม่ทันเรือพ่วง พายไม่ทันเลยไม่มีความหมาย เรือก็น้อยลงไปโดยลำดับ เพราะการร่าเริงอยู่ที่จับกลุ่มตามเรือทรงพระบรมธาตุไปเรื่อย ๆ ตามกำลังแรงคน เร็วหรือช้าเขาไม่อุทรณ์ร้อนใจ บางทีนึกสนุกขึ้นมาก็ขึ้นมาช่วยกันเอาเรือทรงผูกไว้ตามต้นไม้ ไม่ยอมให้ไปก็มี เมื่อได้สนุกพอแก่ความต้องการที่ปล่อยเรือจูงลากไป
ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเปลี่ยนเป็นเรือยนต์ขนาดใหญ่ ที่ยังจัดตกแต่งเรืออย่างแบบเดิม ส่วนเรือที่ตามขบวนก็เปลี่ยนเป็นเรือหางยาวซึ่งมีผู้ที่จะร่วมขบวนต้องเสียเงินเป็นค่าโดยสารเรือขบวนนั้น ถึงแม้จะไม่มีเรือของชาวบ้านมาร่วมขบวนแห่อย่างเอิกเกริกดังเช่นสมัยก่อน บรรดาชาวบ้านตามริมคลองยังคงมานั่งดูขบวนแห่ตามริมคลองอย่างหนาแน่นพวกที่อยู่ลึกเข้าไปจะพายเรือมาจอดรถดูขบวนเป็นทิวแถว เมื่อขบวนเรือไปใกล้บริเวณวัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน จะเริ่มมีขบวนเรือของพวกชาวบ้านพายมาเข้าร่วมขบวนแห่ ยังมีเรือหลายลำแต่งตัวสวยงาม เป็นแบบเดียวกัน บางลำมีการร้องรำทำเพลง เต้นรำกันไปในเรืออย่างสนุกสนาน พอถึงวัดไก่เตี้ยจะเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนที่ซึ่งทางวัดจัดไว้เพื่อให้ชาวบ้านแถบนั้นได้สักการบูชา
สาระ
ท่านผู้สูงอายุหลายท่านเล่าว่าในสมัยก่อนพระบรมสารีริกธาตุมีปาฎิหารย์ปรากฎให้เห็นเสมอ เช่นจะเกิดแสงสว่างอย่างประหลาดทั่วท้องฟ้าก่อนที่จะแห่พระบรมสารีริกธาตุ หรือมีลูกไฟดวงใหญ่ปรากฏทางทิศตะวันออก หรือเกิดแสงสว่างอย่างประหลาดในบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนั้น ปาฏิหาริย์เป็นที่เรื่องลือกันและกล่าวขวัญถึงจนทุกวันนี้ก็คือ ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เมื่อครั้งยังใช้เรือลากจูงเรือพระบรมธาตุเล่ากันต่อ ๆ มาว่า เมื่อขบวนแห่กลับมาถึงหน้าวัดอินทาราม (ใต้) เกิดมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันบนเรือ ผู้คนต่างตกอกตกใจ หลบหนีกันชุลมุนจนทำให้เรือพระธาตุล่มลง มณฑปพระบรมธาตุและผอบที่บรรจุพระบรมธาตุที่ตั้งอยู่บนบุษบกโค่นหล่นน้ำจมลงกลางคลองตอนเวลาประมาณบ่าย ๒ โมงเศษ ชาวบ้านช่วยกันงมหาก็ไม่พบ ในที่สุดขบวนแห่ต้องกลับวัดนางชีโดยไม่มีพระบรมธาตุไปด้วย เจ้าอาวาสเสียใจมาก เมื่อ
กลับมาถึงวัดทำพิธีอาราธนาพระบรมธาตุให้กลับมาวัดนางชีดังเดิม หลังจากนั้นไม่กี่วันมีชาวบ้านบริเวณวัดอินทาราม (ใต้) เห็นผอบแก้วที่บรรจุพระบรมธาตุตั้งอยู่บนแท่นโคนโพธิ์ จึงได้อัญเชิญมาถวายวัดนางชีดังเดิม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ งานแห่พระบรมสาริริกธาตุได้เปลี่ยนไปจัดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หลังวันลอยกระทง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้มาเป็นประธานในการแห่พระบรมสารีริกธาตุ ขบวนเรือที่ที่เข้าร่วมขบวนแห่ได้ตกแต่งเป็นเรือบุบผาชาติอย่างสวยงาม และกองทัพเรือได้จัดเรือดั่งพร้อมฝีพายมาร่วมขบวนด้วย และจัดเป็นเรืออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ชื่อ
งานมหกรรมโปงลาง แพรวากาฬสินธุ์
ภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด
กาฬสินธุ์

ช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์-๖ มีนาคม ของทุกปี
ความสำคัญ
โปงลาง ถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้เพราะโปงลางได้เปลี่ยนสภาพจากขอลอหรือเกราะลอ มาเป็นเครื่องดนตรีธรรมชาติประเภทเครื่องตีไม้ โดยปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดกาฬสินธุ์คือ นายเปลื้อง ฉายรัศมี ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง บรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานชิ้นอื่น ๆ จนเกิดเป็นวงดนตรีโปงลาง มีการคิดท่าฟ้อนประกอบลายโปงลางรวมทั้งการแสดงต่าง ๆ ที่ดัดแปลงมาจากวิถีชีวิตธรรมชาติของคนชนบทอีสาน จนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันโดยทั่วไป
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงโปงลางที่วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ทรงร่วมวงโปงลาง บรรเลงลายเต้ยโขงและลายลมพัดพร้าว ที่พลิ้วหวานจับใจ จังหวัดกาฬสินธุ์จึงถือเอาวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันเริ่มงานมหกรรมโปงลาง แพรวาและกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์สืบต่อกันมา
สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม กำหนดให้มีการประกวดวงดนตรีและการแสดงโปงลาง โดยแบ่งประเภทวงออกเป็น ๓ ระดับ คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับประชาชน โดยจัดให้มีการประกวดในช่วงเวลาของงานเทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่นี้คือ งานมหกรรมประกวดดนตรีโปงลาง งานเทศกาลผ้าไหมแพรวา ที่เป็นสุดยอดของดีเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีโปงลางระดับประชาชน ถ้วยรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี และถ้วยรางวัลชนะเลิศระดับประถมศึกษาจากเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จากปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา นับว่าเป็นปีทองของดนตรี
โปงลางของจังหวัดกาฬสินธุ์เพราะดนตรีโปงลางของจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดและประเทศไทย โดยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดดนตรีพื้นเมืองนานาชาติ ระดับมัธยมศึกษา ครั้งที่ ๑ ณ ประเทศตุรกี จนเป็นผลให้การแสดงดนตรีโปงลางของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
สาระ
งานมหกรรมโปงลาง แพรวาและงานกาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดที่จัดเป็นประจำทุกปี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศต่างให้ความสนใจกับงานเทศกาลนี้ โดยในแต่ละปีจะเดินทางมาเที่ยวชมและเลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองเลื่องชื่อของจังหวัดไปปีละเป็นจำนวนมาก เป็นการส่งเสริมรายได้อุตสาหกรรมท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย วัตถุประสงค์หลักของงานนี้มุ่งเผยแพร่ ฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีและผลงานของส่วนราชการทั้งภาครัฐและเอกชนของจังหวัด แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป จุดเน้นสำคัญของงานคือขบวนแห่ในพิธีเปิดงานที่มโหฬารที่แสดงให้เห็นถึง ประเพณีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สร้างขึ้นจากคำขวัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ว่า "โปงลางเลิศล้ำ วัฒนธรรม ผู้ไทย ผ้า
ไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์โลกล้านปี" ที่แสดงถึงความรักสามัคคี ความพร้อมเพรียง การรวมใจเป็นหนึ่งของผู้คนที่จะช่วยกันจรรโลง เชิดชูเกียรติ ชื่อเสียง และเอกลักษณ์ของเมืองกาฬสินธุ์ให้เป็นที่รู้จักสืบไป

ชื่อ
ประเพณีนบพระเล่นเพลง
ภาค
ภาคเหนือ
จังหวัด
กำแพงเพชร

ช่วงเวลา วันเพ็ญ เดือน ๓ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคม ของทุกปี)
ความสำคัญ
ประเพณีนบพระเล่นเพลง เป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากสุโขทัย ซึ่งได้กล่าวถึงว่า ในสมัยพญาลิไทได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากลังกามาบรรจุไว้ที่องค์พระเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม ดังนั้นจึงได้มีการจัดขบวนของเจ้าผู้ครองนครไปนมัสการพระบรมธาตุ
พิธีกรรม
จังหวัดกำแพงเพชรได้ฟื้นฟูประเพณีนบพระเล่นเพลงขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ด้วยการจัดขบวนแห่พยุหยาตราจำลองไป นบพระ และเวียนเทียนพระบรมธาตุเจดีย์ และได้มีการแสดงการละเล่น เล่นเพลง กันเป็นที่เอิกเกริก รวมทั้งจัดให้มีการแสดงแสงสีเสียงถึงประวัติความเป็นมาของการตั้งบ้านแปงเมือง นอกจากนี้ยังได้มีการออกร้านแสดงสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น
สาระ
การจัดงานนบพระเล่นเพลง ถือเป็นงานประจำปีของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นการ ฟื้นฟูและเผยแพร่ประเพณีดั้งเดิมที่ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นตน